คณะเกษตร เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการโอนกิจการของกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากกรมเกษตร มาดำเนินการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486 เมื่อแรกก่อตั้งมีชื่อว่าคณะเกษตรศาสตร์ ตามพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2486 ตราไว้ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ 2486 และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2486 โดยแบ่งกิจการออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกวิชาเกษตรศาสตร์ แผนกวิชาสัตวบาล แผนกวิชาเคมี แผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืช และแผนกวิชาวิศวกรรมเกษตร
ใน พ.ศ. 2486 ที่ได้เริ่มการเรียนการสอนนั้นคณะเกษตรศาสตร์ยังไม่มีที่ทำการคณะโดยเฉพาะ อาคารสำนักงานต่างๆ อยู่รวมกับสำนักงานเลขานุการกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ อาคาร ที่ต่อมาเรียกกันว่า เรือนเขียว ส่วนอาคารเรียนก็กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน ได้แก่ อาคารสัตวบาล (ปัจจุบันเป็นร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณประตู 2) และอาคารเรือนไม้ 2 ชั้นรูปตัว L ก่อสร้างติดกับอาคารสัตวบาลซึ่งขณะนั้นเป็นอาคารที่ใช้สอนวิทยาศาสตร์ เคมี และสัตววิทยา มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยาง หลังคามุงกระเบื้องสีขาว ชั้นบนมี 4 ห้องเรียน ชั้นล่างมี 4 ห้องเรียน นอกจากนี้ก็ยังจัดการเรียนการสอนที่อาคารพืชพรรณ และอาคารโภชากร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อจากนั้นจึงมีอาคารไม้ชั้นเดียวทางด้านหลังอาคารสัตวบาลเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง มีสะพานข้าม คูน้ำจากอาคารสัตวบาลไปยังอาคารไม้หลังนี้ ห้องเรียนที่สร้างขึ้นเป็นรูปตัว T ใช้เป็นห้องเรียน (ห้อง 600) ห้องประชุม ต่อมาจึงมีอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก เช่น อาคารชีววิทยา (ปัจจุบันเป็นสำนักงานสถิติการเกษตร) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2496 บางแผนกของคณะเกษตรศาสตร์จึงได้ย้ายเข้ามาใช้อาคารหลังนี้ร่วมกับสำนักงานอธิการบดี ภายหลังเมื่อหอประชุมใหญ่ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2500 สำนักงานอธิการบดีจึงได้ย้ายเพื่อไปใช้พื้นที่ร่วมภายในหอประชุมใหญ่ คณะเกษตรศาสตร์จึงได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดของอาคารชีววิทยาเพื่อการสอนวิชาด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ต่อมาเมื่อคณะประมงและคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ได้ย้ายออกไปจากตึกเดิมไปยังตึกพลเทพ และตึกพิทยาลงกรณ์ ตามลำดับ คณะเกษตรศาสตร์จึงได้ย้ายที่ทำการคณะไปอยู่แทนที่อาคารหลังนี้ซึ่งปัจจุบันเป็นสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร โดยระยะแรกของการก่อตั้งคณะเกษตรศาสตร์มีการเปิดสอนหลักสูตรเพียง 2 หลักสูตร คือหลักสูตรอนุปริญญากสิกรรมและสัตวบาล (อปก.) หลักสูตร 3 ปี
หลังจากการจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการ ได้มีการเปิดแผนกชีววิทยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แผนก และเปลี่ยนชื่อแผนกเคมีเป็นแผนกฟิสิกส์และเคมี ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2499 คณะเกษตรศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท คือ หลักสูตรปริญญากสิกรรมและสัตวบาลมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกสัตวบาล ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก คณะเกษตรศาสตร์ เป็น คณะกสิกรรมและสัตวบาล และเพิ่มแผนกเคหเศรษฐศาสตร์ขึ้นอีก 1 แผนก และได้เปลี่ยนชื่อแผนกฟิสิกส์และเคมีเป็นแผนกเคมีตามเดิม
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2509 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัย ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509 จึงได้เปลี่ยนชื่อคณะกสิกรรมและสัตวบาล เป็น คณะเกษตร และแบ่งส่วนราชการใหม่เป็น 8 ภาควิชา ดังนี้
- ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช
- ภาควิชาเกษตรกลวิธาน (เดิมชื่อแผนกวิชาเกษตรวิศวกรรม)
- ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ (เดิมชื่อแผนกวิชาเคหเศรษฐศาสตร์)
- ภาควิชาพืชศาสตร์ (เดิมชื่อแผนกวิชาเกษตรศาสตร์)
- ภาควิชาสัตวบาล
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร (เป็นแผนกวิชาใหม่)
- ภาควิชาเกษตรนิเทศ (เป็นแผนกวิชาใหม่)
- ภาควิชาปฐพีวิทยา (เป็นแผนกวิชาใหม่)
ปี พ.ศ. 2511 ได้เปลี่ยนหลักสูตรปริญญาตรีจาก 5 ปี เป็นหลักสูตร 4 ปี เช่น ในปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2512 ในวันที่ 12 พฤษภาคม มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และแบ่งภาควิชาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเปลี่ยนจากการเรียกชื่อแผนกวิชาเป็นภาควิชาในทุกคณะ และเริ่มจัดตั้งส่วนราชการที่เรียกว่าสำนักงานเลขานุการให้สังกัดอยู่คณะด้วย และในปีนี้ได้ย้ายแผนกวิชาเกษตรนิเทศจากคณะเกษตรไปสังกัดคณะศึกษาศาสตร์แทน โดยเรียกใหม่เป็น ภาควิชาอาชีวศึกษา
ปี พ.ศ. 2515 ตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก โดยมติของคณะรัฐมนตรี ได้มีการแบ่งสรรการใช้พื้นที่ในเกษตรกลางบางเขนระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะเกษตรจึงได้ย้ายจากที่เดิมมาอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณฯ โดยได้สร้างที่ทำการคณะขึ้นใหม่เป็นอาคาร 5 ชั้น ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะในปัจจุบันนี้ และใน พ.ศ. 2522 ได้งบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการเงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคาร จรัด สุนทรสิงห์ จนแล้วเสร็จอีก 1 หลัง
ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2518 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ได้แยกภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืชเป็นภาควิชากีฏวิทยา และภาควิชาโรคพืช และยุบเลิกภาควิชาพืชศาสตร์ โดยจัดตั้งเป็น 2 ภาควิชาใหม่ คือ ภาควิชาพืชไร่นา กับ ภาควิชาพืชสวน
คณะเกษตรได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรปริญญาเอกเป็นครั้งแรก ในปีการศึกษา พ.ศ. 2521 ใน สาขากีฏวิทยา และ สาขาปฐพีวิทยา เป็นต้นมา และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้เริ่มดำเนินกิจกรรม การเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็น วันเปิดเรียนภาคปลาย ปีการศึกษา 2521 โดยเริ่มให้นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 และ 4 หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ไปเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน และต่อมาในปีการศึกษา 2528 คณะเกษตรได้มีนโยบายให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ไปศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้ย้ายภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร จากคณะเกษตรไปสังกัดคณะอุตสาหกรรมเกษตร โดยตั้งชื่อใหม่เป็น ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ต่อมา พ.ศ. 2527 มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ได้กำหนดให้มีภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตรในคณะเกษตร ดังนั้นคณะเกษตรจึงมีภาควิชาทั้งหมด 9 ภาควิชา มาจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2531 คณะเกษตรได้มีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีแบบบูรณาการความรู้ขึ้น โดย เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (การจัดการศัตรูพืช) และ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมีการเกษตร) ณ วิทยาเขตบางเขน และต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรกลวิธาน) และ พ.ศ. 2543 เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร) ณ วิทยาเขตกำแพงแสน
ปี พ.ศ. 2536 คณะเกษตร ได้เริ่มเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาในหลักสูตรนานาชาติเกษตรเขตร้อน (Tropical Agriculture) ทั้งในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอกในทุกภาควิชา และอีก 3 ปีต่อมาได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (หลักสูตรนานาชาติ) ในภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร
ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2546 มีประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้แยกคณะเกษตรเป็น 2 คณะคือ คณะเกษตร และ คณะเกษตร กำแพงแสน และในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ได้มีประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง จัดตั้งศูนย์ธุรกิจเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับภาควิชาสังกัดคณะเกษตร
ในปี พ.ศ. 2547 ได้เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ 2 ปริญญา (International Double Degree Program) ร่วมกับ Victoria University of Technology ประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วย สาขาเกษตรเขตร้อน (Tropical Agriculture) และ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Trade)
ปัจจุบันคณะเกษตรมีส่วนราชการทั้งหมด 11 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 9 ภาควิชา 1 สำนักงานเลขานุการ และ 2 ศูนย์
|
ภาควิชากีฏวิทยา (Department of Entomology)
ภาควิชากีฏวิทยา ให้การศึกษาทางภาคทฤษฎีและ ปฏิบัติในเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับแมลง ดำเนินงานวิจัย ทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ในสาขาต่างๆ ของวิทยาการทางกีฏวิทยา เผยแพร่ ส่งเสริมและบริการ วิทยาการที่เกี่ยวกับแมลงให้แก่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องและสนใจ
|
|
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน (Department of Farm Mechanics)
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน สนับสนุนการผลิตบัณฑิตหลักสูตร ต่างๆ ของคณะเกษตร ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา โดยเน้นการศึกษาด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรเขตร้อน ที่ทันสมัยเหมาะสมกับการใช้งานและประยุกต์ใช้เครื่องจักรกล ในกระบวนการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการวิจัยคิดค้น เครื่องต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ
|
|
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ (Department of Home Economics)
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตด้านคหกรรมศาสตร์ที่มีความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม ส่งเสริมสังคมไทยสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อการประกอบอาชีพ สร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ด้าน คหกรรมศาสตร์ ส่งเสริมงานบริการวิชาการเพื่อสร้างรายได้ และให้บริการชุมชน ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
|
|
ภาควิชาปฐพีวิทยา (Department of Soil Science)
ภาควิชาปฐพีวิทยามีหน้าที่รับผิดชอบงานหลักในด้าน การเรียนการสอน การวิจัยและงานส่งเสริมเผยแพร่วิชาการด้าน ดินและปุ๋ย งานวิจัยทางด้านทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดิน และน้ำ งานวิจัยด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน เทคโนโลยีการ ผลิต และผลการใช้ปุ๋ย รวมทั้งงานวิจัยทางด้านปฐพีวิทยา สิ่งแวดล้อม
|
|
ภาควิชาพืชไร่นา (Department of Agronomy)
ภาควิชาพืชไร่นาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชไร่ที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด พืชเส้นใย พืชน้ำมัน และถั่วต่างๆ เป็นต้น การศึกษาและวิจัยครอบคลุมถึงการผลิต การเพิ่มผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต สรีรวิทยาการผลิต การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และการปรับปรุงพันธุ์เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ตลอดจนทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การศึกษาและวิจัยจะเน้นตามลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของพืชไร่แต่ละชนิด
|
|
ภาควิชาพืชสวน (Department of Horticulture)
ภาควิชาพืชสวนเปิดการเรียนการสอนสาขาพืชตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยมีเป้าหมายการผลิตบัณฑิตให้ได้รับการศึกษาตามหลักสูตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางด้านพืชสวนที่มีมูลค่าการตอบแทนสูง และต้องผ่านขั้นตอนการผลิตอย่างพิถีพิถัน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
|
|
ภาควิชาโรคพืช (Department of Plant Pathology)
ภาควิชาโรคพืชมุ่งผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีและ บัณฑิตศึกษาสาขาวิชาโรคพืช ให้มีความรู้ความสามารถ ในการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และประยุกต์ความรู้วิชาการ เพื่อพัฒนาตนเอง และชี้นำสังคมภาคเกษตรและชนบทได้ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพตลอดจนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ในวิชาชีพจนเป็นที่ยอมรับใน ระดับชาติ และนานาชาติ
|
|
ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร (Department of Agricultural Extension and Communication)
ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตรจัดการศึกษาสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร และการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ อันเนื่องมาจากการสร้างสรรค์งานวิชาการและพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และมุ่งผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาที่มีความรู้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และประยุกต์ความรู้วิชาการ เพื่อพัฒนาตนเอง และชี้นำสังคมภาคเกษตรและชนบท ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพตลอดจนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ จนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
|
|
ภาควิชาสัตวบาล (Department of Animal Science)
ภาควิชาสัตวบาลสอนและวิจัยทางสัตวศาสตร์ มีบทบาทร่วมในการเป็นผู้นำและแก้ไขปัญหาการผลิตปศุสัตว์ของประเทศ และผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความเป็นเลิศทางสัตวศาสตร์ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
|
|
สำนักงานเลขานุการ คณะเกษตร (Secretariat office of Faculty of Agriculture)
สำนักงานเลขานุการ ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานในด้านงานธุรการ ให้บริการการศึกษาและบริการการเรียนการสอน และการบริการทั่วไปแก่ภาควิชา คณะ สำนัก สถาบัน/หน่วยงานที่เทียบเท่า กองต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี รวมทั้งหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
|